ข้อมูลพื้นฐานจังหวัดสมุทรสาคร
ประวัติความเป็นมาจังหวัดสมุทรสาคร

            จังหวัดสมุทรสาครเป็นจังหวัดชายทะเล ตั้งอยู่ปากแม่น้ำท่าจีน หลักฐานทางประวัติศาสตร์ กล่าวไว้ว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมุทรสาครเดิมเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีชาวจีนนำเรือสำเภาเข้ามาจอดเทียบท่าค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าและได้พักอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงเรียกว่า “บ้านท่าจีน” ตั้งอยู่บริเวณปากอ่าวไทย ต่อมาในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ. 2099) ได้โปรดให้ยกฐานะ “บ้านท่าจีน” ขึ้นเป็น “เมืองสาครบุรี” เพื่อเป็นหัวเมืองสำหรับเรียกระดมพลเวลาเกิดสงคราม และเป็นเมืองด่านหน้าป้องกันข้าศึกศัตรูที่จะเข้ามารุกรานบุกรุกทางทะเล
           ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงโปรด ให้เปลี่ยนชื่อ “เมืองสาครบุรี” เป็น “เมืองสมุทรสาคร” ซึ่งมีความหมายว่า “เมืองแห่งทะเลและแม่น้ำ” ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2448) ทรงปฏิรูปการปกครองมีการจัดระบบการบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นมณฑลเทศาภิบาล และได้ทรงมีพระราชดำริที่จะสร้างสรรค์ความเจริญให้แก่ท้องถิ่น โดยใช้รูปแบบการปกครองแบบสุขาภิบาล จึงได้มีพระบรมราชโองการให้ยกฐานะ “ตำบลท่าฉลอม” เป็น “สุขาภิบาลท่าฉลอม” จังหวัดสมุทรสาคร เป็นสุขาภิบาลที่ตั้งขึ้นในหัวเมืองเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาล ที่ 6 (พ.ศ. 2456) โปรดเกล้าให้ทางราชการเปลี่ยนคำว่า “เมือง” เป็น “จังหวัด” ทั่วทุกแห่ง ในพระราชอาณาจักร “เมืองสมุทรสาคร” จึงได้เปลี่ยนเป็น “จังหวัดสมุทรสาคร” มาจวบจนปัจจุบันนี้

                                                                              
 ตราประจำจังหวัดสมุทรสาคร 
              เป็นรูปเรือสำเภาจีนแล่นในทะเล ด้านหลังเป็นโรงงานและปล่องไฟ ซึ่งหมายถึง ความรุ่งเรืองที่มีมาอดีตถึงปัจจุบัน
              ตราประจำจังหวัดสมุทรสาคร เริ่มใช้เมื่อ พุทธศักราช 2483 ในสมัยที่หลวงวิเศษภักดี (ชื้น วิเศษภักดี) เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด
ธงประจำจังหวัดสมุทรสาคร  ใช้สีน้ำทะเลและสีชมพูเป็นพื้น ตรงกลางมีรูปเรือสำเภา
 
 
ต้นไม้ประจำจังหวัดสมุทรสาคร  ต้นพญาสัตบรรณหรือต้นสัตบรรณ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Alstonia  scholaris)  รู้จักกันทั่วไปในนามของตันตีนเป็ดเป็นพรรณไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดสมุทรสาคร  เนื่องจากเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พุทธศักราช 2537  ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้รับพระราชทานพันธุ์ไม้ดังกล่าวจากสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสที่เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานเปิดวันรณรงค์โครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ ปีที่ 50 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และเพื่อความเป็น ศิริมงคลของประชาชนชาวจังหวัดสมุทรสาคร  ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครจึงได้นำพันธุ์ไม้สัตบรรณพระราชทานมาปลูกเป็นปฐมฤกษ์ ในกิจกรรมวันปลูกต้นไม้ตาม โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พุทธศักราช 2537 ที่บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดสมุทรสาคร จึงถือได้ว่าต้นสัตบรรณเป็นต้นไม้มงคลของจังหวัดสมุทรสาคร
 
คำจวัญประจำจังหวัดสมุทรสาคร   “เมืองประมง    ดงโรงาน    ลานเกษตร    เขตประวัติศาสต์ “
 
 
ข้อมูลทางภูมิศาสตร์

ที่ตั้ง  จังหวัดสมุทรสาครเป็นจังหวัดชายทะเล ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีนในเขตพื้นที่ภาคกลางตอนล่างของประเทศไทย ประมาณเส้นรุ้งที่ 130 องศาเหนือ และเส้นแวงที่ 100 องศาตะวันออก เป็นจังหวัดปริมณฑล ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 30 กิโลเมตร มีพื้นที่ 872.347 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 545,216[3]

 อาณาเขตติดต่อ
    ทิศเหนือ ติดกับจังหวัดนครปฐม
    ทิศใต้ ติดกับอ่าวไทย
    ทิศตะวันออก ติดกับกรุงเทพมหานคร
    ทิศตะวันตก ติดกับจังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดราชบุรี

ภูมิประเทศ  จังหวัดสมุทรสาครมีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเล สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1.00 – 2.00 เมตร มีแม่น้ำท่าจีนไหลผ่านตอนกลางจังหวัด ไหลคดเคี้ยวตามแนวเหนือใต้ลงสู่อ่าวไทยที่อำเภอเมืองสมุทรสาคร ระยะทางยาวประมาณ 70 กิโลเมตร พื้นที่ตอนบนในเขตอำเภอบ้านแพ้วและอำเภอกระทุ่มแบนมีความอุดมสมบูรณ์ของดินและมีโครงข่ายแม่น้ำลำคลองเชื่อมโยงถึงกันกระจายอยู่ทั่วพื้นที่กว่า 170 สาย จึงเหมาะที่จะทำการเพาะปลูกพืชนานาชนิด และบางส่วนเป็นย่านธุรกิจ อุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย พื้นที่ตอนล่างของจังหวัดในเขตอำเภอเมืองสมุทรสาครอยู่ติดชายฝั่งทะเลยาว 41.8 กิโลเมตร จึงเหมาะที่จะประกอบอาชีพประมงทะเล เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งและทำนาเกลือ

ภูมิอากาศ  จังหวัดสมุทรสาคร มีลักษณะภูมิอากาศเป็นแบบฝนเมืองร้อน เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากลมบก ลมทะเล และมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่าน ในช่วงฤดูร้อน จึงทำให้มีความชื้นในอากาศสูง มีฝนตกปานกลาง ปริมาณเฉลี่ย 1,120 มิลลิเมตรต่อปี อุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 26-28 องศาเซลเซียส มีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำสุด 50 สูงสุด 95